จากกรณีที่เมื่อวาน ซากามิ ทากิ อดีตกุนซือของสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด หมดสัญญากับทีม และโยกมาเซ็นสัญญาเป็น โค้ช คนใหม่กับทีมระยอง เอฟซี ก่อนจะออกมากล่าวว่าการแยกทางกับเชียงรายไม่ใช่เหตุผลเรื่องเงิน แต่เป็นบทบาทหน้าที่ในการทำงาน ซึ่งการออกมากล่าวเช่นนี้ก็เป็นอันรู้กันว่า ทากิ ไม่ต้องการให้เจ้าของทีมเข้ามาแทรกแซงการทำงานของเขา

สำหรับกรณีที่เจ้าของทีมลงมานั่งในซุ้มม้านั่งสำรอง พลางออกมาสั่งการด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับฟุตบอลไทย แต่ที่ชัดเจนก็จะเห็นได้จาก บุรีรัมย์ ราชบุรี และเชียงราย ส่วนที่เหลืออาจนั่งหลบๆ และจำนวนมากนั่งอยู่ใน VIP ซึ่งเป็นเรื่องปกติสากล แต่ที่จะมาพูดกันวันนี้ คือการที่เจ้าของทีมลงมาแทรกแซงการทำงานของโค้ช ซึ่งจะเป็นการทำลาย มากกว่าพัฒนา
เพราะยังไงก็ตามการเป็นเจ้าของทีม ย่อมมีประสบการณ์และความรู้ในวิชาชีพโค้ชไม่เท่ากับโค้ชที่เรียนในด้านนี้มาจริง ๆ แม้ว่าเจ้าของทีมจะได้เปรียบตรงที่อยู่กับทีมตลอด แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องการพัฒนานักเตะ การวางโปรแกรมการฝึกซ้อม การแก้เกมและแท็กติกที่จะต้องใช้ในสนามฟุตบอล ซึ่งการลงมาแทรกแซงอย่างนี้จะทำให้ฟุตบอลไม่เติบโตไปไกลกว่านี้ เพราะเมื่อไปเล่นระดับทวีปเอเชีย แท็กติกและศาสตร์ฟุตบอลย่อมสูงขึ้นมากกว่าการแข่งขันในไทย
สิ่งที่ควร คือ การตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ พร้อมกับแผนงานทุกอย่างให้ละเอียดเพื่อเป็นการบ้านกับโค้ช ได้ทำงานตรงกับความต้องการของทีม แต่หากเจ้าของทีมอยากลงมาสั่งการเองจริง ๆ ก็ควรไปเรียนวิชาชีพโค้ชเพื่อให้ผ่านตามเกณฑ์ของไทยลีก แล้วลงมาทำหน้าที่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่มีใครติเตียนได้ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพ
ฉะนั้นโดยสรุปแล้ว การที่เจ้าของทีมลงมาแทรกแซงและจัดการทีมเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากไม่มีใบวิชาชีพก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมไม่ให้น่าเกลียด แต่ถ้ามีประกอบวิชาชีพโค้ชก็สามารถวางบทบาทของตัวเองได้ตามสะดวก และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับวงการฟุตบอลไทยในการแข่งขันระดับทวีปเอเชีย
ติดตาม เว็บข่าว ตลาดซื้อขายนักเตะ และติดตาม สาลิกาดง นิวคาสเซิล ระส่ำมีนักเตะที่ติดไวรัสโคโรน่ากว่า 6 ราย